วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ค้นหาความชอบ เรียนรู้ตามโจทย์ ของตัวเอง ผ่านงานสัปดาห์หนังสือ

วันนี้เป็นวันที่ครูบีมีความสุขมากอีกวันหนึ่งค่ะ
พาเด็กชั้นเรียนทางเลือกม.ปลาย ไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์สิริกิติ์

วันนี้ครูต้น (ครูที่สามารถทำได้ทุกอย่าง) ทำหน้าที่เป็นโชเฟอร์ขับรถพาเด็กๆ ไป เพราะไม่มีคนขับรถคนไหนว่าง

เพราะคิดกันกับครูต้นว่า ถ้าจะให้เด็กเค้าอ่านหนังสือ เราคงต้องให้เขาเลือกเอง เพราะถ้าครูเลือกให้ คงต้องใช้กำลังบังคับให้อ่านกันน่าดู :) แต่งานนี้มีเงื่อนไขว่า หนังสือที่ซื้อโดยมีงบประมาณ คนละ ๑๐๐ กว่าบาทนั้น เลือกได้อย่างอิสระ จะเป็นอะไรก็ได้ แต่เมื่ออ่านจบต้องทำเรื่องย่อ และเหตุผลที่สนใจหนังสือเล่มนี้ แปะแนะนำน้องๆ ไว้ที่ปกหนังสือด้านใน เพื่อคนต่อไปจะได้มาอ่านต่อได้ และไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกให้เอาหนังสือใส่กระเป๋าตัวเองไว้เลย ไม่อย่างนั้นต้องถือไว้

เราออกกันตั้งแต่เช้า มีหลายครูหลายคนถามอยู๋เหมือนกัว่าทำไมไม่ให้พ่อแม่พาไป
ก็แหม...มันคนละบรรยากาศ ไปกับเพื่อนไปเลือกอิสระ ความรู้สึกมันก็ต่างกัน ก็สงสัยอยู่เหมือนกันค่ะ ว่าทำไมครูไม่พาเด็กๆ ออกไป ที่งานหนังสือเป็นขุมทรัพย์เลยนะคะ เด็กมีโอกาสได้พบปะนักเขียน ได้เห็นความหลากหลายมากๆ ของหนังสือ แล้วก็ยังได้พูดคุยกับนักเขียน หรือฟังบรรยายด้วย เป็นประสบการณ์ที่ถ้าพูดตามหลัก Brain-Based Learning คือพาไป Patterning ประสบการณ์ เพื่อให้เขาค่อยๆ เชื่อมโยงตัวเขากับหนังสือว่ามีประโยชน์กับเขาอย่างไร

ครูบีเริ่มเดินตอนเช้ากับ ป๋อ เอื้อย แชมป์ บิง ก่อนค่ะ เรานัดกันที่บูธ Q o1 ของโรงเรียน เผื่อจะพลัดหลงกัน ครูยุ้ยจะได้ช่วยติดต่อเพราะคนในงานเยอะมาก

บิงได้หนังสือเป็นคนแรก และทำหน้าที่แนะนำหนังสือให้เพื่อนๆ ด้วย ท่าทางบิงจะชอบอ่านหนังสือมาก ไปแผงไหน บิงจะรู้จักคนเขียนหนังสือคนนั้นคนนี้เต็มไปหมด เดินไปตรงไหนก็ดูเหมือนบิงจะสนใจไปหมด แล้วไม่ได้สนใจแค่ผ่านๆ ด้วยนะคะ บิงจะอธิบายรายละเอียดได้ นอกจากนั้น บิงยังทำหน้าที่เป็น navigator ให้เพื่อน ๆ เพราะครูบีวางเงื่อนไขว่า รอบแรกจะไม่ซื้อ เราจะเดินดูอย่างเดียว แต่ให้ทำสัญลักษณ์ไว้ จะได้กลับมาซื้อตอนบ่าย

ส่วนป๋อ ก็สนใจหนังสือที่เป็นภาษาจีนมาก น่าแปลกใจที่ป๋ออ่านหนังสือยากๆ และหนังสือดีๆ หลายเล่มอยู่เหมือนกัน เช่น Home-made school ของอาจารย์วิศิษฐ์

แชมป์ก็มีเป้าหมายทันทีเลยว่า จะซื้อหนังสือลายไทย และเป็นเด็กดีมากนะคะจะช่วยครูยุ้ยอยู่ที่บูธ และจะซื้อฝากครูสิษฐ์และครูดิเรกด้วย

ครูบีสังเกตว่าเดินรอบแรกเด็กๆ เค้าจะไม่ยอมไปดูหนังสืออย่างที่ตัวเองอยากดู แต่จะเดินตามครูบีมากกว่า เค้าก็เลยอาจดูเบื่อๆ บ้าง แต่พอบอกให้แยกไป ก็ไม่ยอม

เราไปทานข้าวกลางวันกันในสวน ครูบีให้โจทย์กลุ่มนี้ต่อว่า ช่วงบ่ายให้ไปเดินกันเอง ไปหาขุมทรัพย์ตามแผนที่ที่พาเดินไปตอนช่วงเช้า และไม่ให้ครูต๋อยช่วยด้วยนะคะ ทุกคนต้องว่าจะซื้อหนังสืออะไรให้ได้ตามงบ แล้วกลับมาเจอกันตอนบ่าย ๓ โมงที่จุดนัดพบ แล้วก็ต้องเก็บบิลที่ซื้อหนังสือมาด้วยเพราะจะต้องใช้เบิกงบของโรงเรียน ทีแรกก็กังวลกันใหญ่ เพราะไม่เคยเดินคนเดียว กว่าจะยอมไป เล่นครูๆ กล่อมกันเหนื่อยเลยค่ะ

บิงอาสาบอกไม่ต้องกลัวเพราะมีแผนที่ แล้วทุกคนก็ช่วยกันทวนให้เอื้อยจำจุดนัดพบให้ได้ เผื่อหลงทาง

แล้วครูบีก็แยกไปเดินกับโบส เพราะโบสดูท่าทางจะเป็นคนเดียวที่ยังหาหนังสือที่ชอบไม่ได้เลย
เราเดินไปโซนหนังสือเก่า เพราะมีความชอบคล้ายกันเรื่องบทกวี อยากให้คุณพ่อคุณแม่ไปเห็นภาพเจ้าโบสนั่งจมกองหนังสือเก่า คุ้ยหาหนังสือ นั่งอยู่นานจนเจ้าของร้านหลายร้านชมเลยค่ะว่า ทำไมอายุเท่านี้ อ่านหนังสือปรัชญาแล้ว โบสเลือกหนังสือของ โสเครติส โดยถามรายละเอียดจากเจ้าของร้าน แล้วพาครูบีไปดูบทกวี ได้หนังสือของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์มาด้วยค่ะ เราอยู่ตรงนั้นกันสักพัก เดินวนไปดูอย่างอื่นบ้าง แต่แล้วก็กลับมาที่เดิม มานั่งจมกันอยู่ที่กองเดิม ดูเจ้าของร้านจะชอบอกชอบใจหนุ่มน้อยนักปรัชญาคนนี้เป็นพิเศษ แวะเวียนมาชวนคุย มาถามว่าเรียนวิชาอะไร ทำไมอ่านหนังสือยากแบบที่ผู้ใหญ่บางคนก็ยังไม่เข้าใจ

สักพักเสียงโทรศัพท์ครูบีก็ดัง คิดเอาไว้อยู่แล้วค่ะว่าต้องเป็นกลุ่มเด็กที่แยกไป ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ทีแรกครูบีคิดว่าเขาน่าจะเบื่อแล้วจะกลับเพราะเดินกันนานแล้ว หรือไม่ก็ต้องมีปัญหาอะไร แต่พอรับโทรศัพท์ แชมป์บอกว่า ขออยู่ต่ออีกมีคนที่แปลหนังสือที่เขาซื้อกันมาที่เป็นวรรณกรรมเยาวชนแนวใหม่ใช้ภาพเป็นการดำเนินเรื่อง จะขึ้นพูดบรรยาย เขาเลยโทรมาขออนุญาตฟังต่ออีกหน่อย

ครูบีดีใจรีบอนุญาตแทบไม่ทันน่ะค่ะ เสียงเด็กๆ เค้าตื่นเต้นมาก

ส่วนเจ้าพลอยครูบีก็เลยได้รู้ว่าชอบแมวมากเป็นชีวิตจิตใจเหมือนครูบีเลย เราก็เลยได้เลือกดูหนังสือเกี่ยวกับแมวด้วยกัน

แทนหลังจากเลือกการ์ตูนที่ชอบเสร็จแล้ว ตอนแรกนึกว่าจะไม่ยอมดูหนังสืออย่างอื่น แต่หลังจากเพื่อนๆกลับกันหมดแล้ว เหลือครูบี แทน พลอย โบส ครูบีก็ไล่ให้เด็กๆ ไปหาหนังสือกันเอง ไม่ต้องเดินตาม กลัวเขาจะเบื่อ เจ้าแทนบอกว่า "ไม่เอาครับ ผมน่ะเวลาเดินก็จะเดินไปดูแต่การ์ตูนอยู่เรื่อย ดูหนังสืออื่นไม่เป็น ผมก็เลยอยากเดินกับครูบี จะได้รู้ว่าครูอ่านหนังสืออะไรกัน" แหมมีตบท้ายเรียนรู้กันต่ออีกคนละนิดคนละหน่อย

ครูบีรู้สึกว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้มากมาย เพียงแค่การมาเดินงานหนังสือด้วยกัน เพราะหนังสือมีหลากหลายมาก กิจกรรมก็มีหลากหลายด้วย พอเขามีเวลาพอ เขาได้เลือกกิจกรรมของตัวเอง แต่ละคนก็เลยได้ไปเรียนรู้ในมุมที่แตกต่างกัน

แชมป์ เอื้อย บิง ป๋อ ก็ไม่กลัวที่จะต้องไปเดินกันเองได้โดยไม่ต้องรอครู (แถมยังบอกอีกว่า สนุกกว่าด้วย)
โบสก็ได้เจอหนังสือที่ถูกใจ ฝังตัวเองลงไปในกองหนังสือเก่า
แทนได้ลองมองหนังสือใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดเฉพาะที่ตัวเองชอบ
ครูบีได้รู้ว่า พลอย มักจะเลือกหนังสือเกี่ยวกับแมว และมีความรู้เรื่องการเลี้ยงแมวมาก

แล้วครูก็ได้รู้ว่า การพาเด็กๆ ออกมาพบเจอประสบการณ์ข้างนอกบ่อยๆ เป็นโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ (หากในที่นี้หมายความตามทฤษฎี Brain based เขาจะได้เก็บประสบการณ์ที่หลากหลายมากทั้งแบบประสบการณ์ที่รู้ตรงๆ และประสบการณ์ในระดับจิตใต้สำนึกหรือระดับ subconcious) เด็กๆ มีโอกาสเรียนรู้ในแง่มุมที่ตัวเองชอบในวาระของตัวเอง ตัวครูก็ได้รู้จักเด็กในแง่มุมใหม่ ทุกคนได้เก็บเกี่ยวการเรียนรู้กันไปคนละนิดละหน่อย แต่มีความสุข เด็กๆ บอกว่าชอบ และน่าพามาแบบนี้บ่อยๆ

จริงๆ แล้วยังไม่ได้กลับไปสรุปกับเด็กๆ ที่โรงเรียนหรอกค่ะ แต่อยากเอามาเล่าก่อน เพราะครูตื่นเต้นกับการเรียนรู้ของเด็กๆมาก แล้วถ้าพรุ่งนี้ได้ไปพูดคุยกับเด็กๆ ว่ายังไงแล้วเดี๋ยวจะกลับมาเล่าให้ฟังอีกนะคะ


คืนนี้ต้องขอตัวไปอ่านหนังสือที่ซื้อมาบ้างแล้วล่ะค่ะ

ครูบี

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ใคร่ครวญเรื่องเด็กผ่านบทกวีของคาลิล ยิบราล

สวัสดีค่ะ

ช่วงนี้ลมหนาวเริ่มพัดพาเข้ามาแล้วนะคะ
ครูบีกำลังทำงานหนักในหลายเรื่องตั้งแต่อาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาได้เขียน blog เท่าไหร่ แต่ก็อยากฝากบทกวีเอาไว้ให้ได้คิดกันค่ะ เป็นบทกวีจากหนังสือชื่อ ปรัชญาชีวิต (The Prophet) ของ คาลิล ยิบราล นักคิด นักปราชญ์ คนสำคัญ ครูบีได้ใส่ไว้ใน (ร่าง) ต้นฉบับเบิกบานที่กลางใจท้ายเล่ม เป็นภาษาไทยที่ถอดความโดย อาจารย์ระวี ภาวิไล แต่ก็อยากจะนำมาใส่ไว้ใน Blog อีก เผื่อมีท่านใดสนใจอยากอ่านทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย

คุณพ่อคุณแม่ท่านใดสนใจลองนำบทกวีมาอ่านกับลูก หรือครูอ่านกับลูกศิษย์ โดยอาจเลือกหัวเรื่องที่เหมาะกับเขา หรือที่เขาสนใจ ก็เป็นวิธีหนึ่งในการฝึกการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และการตีความ (Interpretation) ซึ่งหากเราเปิดพื้นที่เพียงพออ่านพร้อมกับลูกหรือลูกศิษย์ของเราให้ได้แสดงความคิดเห็น พื้นที่ที่เกิดความรู้สึกเท่าเทียมกันก็จะเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากนัก นับว่าบทกวีเป็นกุศโลบายที่ดีทางหนึ่ง แต่อาจจะต้องเลือกชิ้นที่เหมากับวัยแต่ละวัยหน่อยนะคะ

นอกจากนั้น บทกวีเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำมาขัดเกลาใจ คำพูดที่กลั่นกรองอย่างละเอียด ผ่านการคิดด้วยถ้อยคำที่ลึกซึ้ง เมื่อเราซึ่งเป็นผู้อ่าน ได้ใคร่ครวญ และนึกคิดตาม เราจะพบกับแง่งามของความคิดของตัวตนของเราเองด้วย

ครั้งนี้ครูบีจึงขอยกบทกวีชิ้นอมตะชิ้นนี้มาทั้ง ๒ ภาษาเลยนะคะ เป็นตอนที่ว่าไว้ถึงเรื่องของ "เด็ก" หรือ "บุตรหลาน"


Children

And a woman who held a babe against her bosom said, "Speak to us of Children."
And he said:
Your children are not your children.
They are the sons and daughters of Life's longing for itself.
They come through you but not from you,
And though they are with you, yet they belong not to you.
You may give them your love but not your thoughts.
For they have their own thoughts.
You may house their bodies but not their souls,
For their souls dwell in the house of tomorrow, which you cannot visit, not even in your dreams.
You may strive to be like them, but seek not to make them like you.
For life goes not backward nor tarries with yesterday.
You are the bows from which your children as living arrows are sent forth.
The archer sees the mark upon the path of the infinite, and He bends you with His might that His arrows may go swift and far.
Let your bending in the archer's hand be for gladness;
For even as he loves the arrow that flies, so He loves also the bow that is stable.



และหญิงคนหนึ่ง ซึ่งกอดบุตรน้อยไว้กับอก พูดว่า ได้โปรดพูดกับถึงเรื่อง "บุตร"
และท่านตอบว่า...
บุตรของเธอ ไม่ใช่บุตรของเธอ
เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต
เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ
และแม้ว่าเขาจะอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ

................................................
เธออาจให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้
เพราะว่าเขาก็มีความคิดของตนเอง
เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้ แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา
เพราะว่าวิญญาณของเขานั้น อยู่ในบ้านของพรุ่งนี้ ซึ่งเธออาจเยี่ยมเยือนได้ แม้ในความฝัน
เธออาจจะพยายามเป็นเหมือนเขาได้ แต่อย่าได้พยายามให้เขาเหมือนเธอ
เพราะชีวิตนั้นไม่เดินถอยหลัง หรือห่วงใยอยู่กับวันวาน


เธอนั้นเป็นเสมือนคันธนู และบุตรหลานเหมือนลูกธนูอันมีชีวิต ผู้ยิงเล็งเห็นที่หมายบนทางอันมิรู้สิ้นสุด
พระองค์จะน้าวเธอเต็มแรง เพื่อว่าลูกธนูจะวิ่งเร็วและไปไกล

ขอให้การโน้มงอของเธอในอุ้งหัตถ์ของพระองค์เป็นไปด้วยความยินดี เพราะว่า...
เมื่อพระองค์รักลูกธนูที่พุ่งไปนั้น พระองค์ก็รักคันธนูซึ่งอยู่นิ่งด้วย


จาก The Prophet ปรัชญาชีวิต คาลิล ยิบราน: เขียน ระวี ภาวิไล: ถอดความ



สำหรับบทนี้ ครูบีชอบมากเป็นพิเศษ เพราะคำว่า "บุตร" ในความหมายที่ครูบีตีความนั้น ไม่ได้หมายถึงบุตรที่เราให้กำเนิดมา แต่ก็หมายถึงลูกศิษย์ของเรา ซึ่งมีชีวิตจิตใจเป็นของตัวเอง เราอาจให้ความรัก และเป็นห่วงเป็นใยเขาได้ แต่เราไม่อาจที่จะปิดกั้น รั้งไม่ให้เขามีชีวิตที่เผชิญหน้าต่อความจริงที่ตนเองจะต้องเจอ

คนที่ชอบบทนี้อีกคนหนึ่งคือ เจ้าโบส ชั้นเรียนทางเลือก ม.ปลาย ค่ะ ชอบมากขนาดไหนต้องลองไปถามโบสดู เพราะล่าสุด โบสอ่านหนังสือเล่มนี้เกือบจบแล้ว (แล้วเลือกบทกวีชิ้นนี้ไปอ่านให้คุณพ่อ คุณแม่ฟังอีกต่างหาก)

บางครั้ง เด็ก ก็มักหากุโศลบายที่นำมาใช้กับผู้ใหญ่เหมือนกันนะคะ

ครูบี

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ยินดีต้อนรับ blogger ค่ะ

ยินดีต้อนรับคุณพ่อ คุณแม่ คุณครูทุกท่านค่ะ
พี่มล เป็นผู้ปกครองที่ลงทะเบียนเข้ามาท่านแรกเลยนะคะ
มีข้อแนะนำใดๆ กรุณาแนะนำด้วยค่ะ

การนัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งต่อไป สำหรับระดับมัธยมปลาย
คือวันอังคารที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๐ เวลา ๑๕.๓๐น.
ที่ห้องประชาสัมพันธ์ ชั้น ๒ เรือนสานอักษร นะคะ
ที่ยืนยันแล้ว มีครอบครัวพี่บิง พี่แชมป์ และ พี่เอื้อยค่ะ
ขอเชิญ ครอบครัวที่สนใจเข้าร่วมการพูดคุยครั้งนี้ได้นะคะ
ครูอ้อ
ra.news@gmail.com

เบิกม่าน วันเบิกบานที่กลางใจ ชั้นเรียนทางเลือก ครั้งที่ ๑

ก่อนอื่นต้องขอสวัสดีและกล่าวต้อนรับอย่างไม่เป็นทางการก่อนนะคะ


ในที่สุดเราก็ได้มี blog ชั้นเรียนทางเลือก ที่จะเป็นพื้นที่อีกทางหนึ่งในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน ประสบการณ์การเรียนรู้ จากการเปลี่ยนแปลงตนเองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคนพิเศษ นั่นก็คือ ลูก หรือ ลูกศิษย์ของเรา

Blog นี้เกิดขึ้นจากเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ วันเบิกบานที่กลางใจ ของชั้นเรียนทางเลือกครั้งที่ ๑ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ "เปิดพื้นที่" แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไปสู่ชุมชนที่พึ่งพิงกันเองเพื่อไปสู่การพึ่งพาตัวเองในระดับชุมชน และเป็นการเอื้อให้เกิดการสื่อสารเพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือ เป็นการสื่อสารระหว่างครูและผู้ปกครองเพื่อนำไปสู่การจัดวางแนวทางการเรียนรู้ที่แท้ ที่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงเหตุ คือ ผู้ปกครองและครู ให้ถูกต้อง เพื่อส่งผลต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องที่ ผล คือ ตัวเด็กนักเรียน


ครูบีได้แนวทางของการศึกษาแบบใหม่ที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนด้วยนะคะ ครูบีได้อ่านหนังสือ "รักเรียน เรียนด้วยรัก" ของอาจารย์เกียรติวรรณ อมาตยกุล ซึ่งแปลและเรียบเรียงจาก To educate with love ของ เฮอร์เบิร์ต เอ็ม กรีนเบิร์ก ค่ะ ซึ่งเขียนถึงความหมายของการศึกษาไว้ว่า

"การศึกษา" ในภาษาละติน หมายถึง "นำออกมา" ดังนั้น การศึกษาจึงไม่ได้หมายความถึงการถ่ายทอดสิ่งที่ผู้สอนรู้ให้แก่ผู้เรียน หากแต่เป็นกระบวนการของการนำสิ่งที่อยู่ในตัวผู้เรียนออกมา ผู้เรียนจะพัฒนา เติบโต งอกงามจากภายใน

ซึ่งในความหมายข้างต้นนี้เองค่ะ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการจัดชั้นเรียนทางเลือกนี้

ในโอกาสนี้ครูบีก็ขอเป็นตัวแทน แนะนำทีมงานไฟแรงที่มีแรงฮึดมากเป็นพิเศษ :) โดยกลุ่มคนกลุ่มนี้มีใจตั้งมั่นที่จะช่วยเหลือและขับเคลื่อนชั้นเรียนทางเลือกนี้ไปด้วยกัน โดยมีความหวังอยู่ลึกๆ ในใจว่าจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงให้ระบบการศึกษา มีทางเลือกและทางรอดให้มากขึ้นกว่าเดิม

ทีมงานประกอบด้วย
๑. ครูบี มิรา ชัยมหาวงศ์ นักวิจัยหลักโครงการชั้นเรียนทางเลือก
๒. ครูอ้อ นันทินี จันทพลาบูรณ์ นักวิจัย ประสานงานและสื่อสารโครงการชั้นเรียนทางเลือก
๓. ครูดุจ อภิดลน์ เจริญอักษร นักวิจัยโครงการชั้นเรียนทางเลือกระดับมัธยมต้น
๔. ครูต้น ภมร รักษาทรัพย์ นักวิจัยโครงการชั้นเรียนทางเลือกระดับมัธยมปลาย
๕. ครูมน ณภาส์ณัฐ ประจิตร นักวิจัยโครงการชั้นเรียนทางเลือกระดับประถมปลาย
๖. ครูหญิง ดวงเพ็ญ ชูนาม นักวิจัยและครูการศึกษาพิเศษ


ในส่วนการให้ความคิดเห็นเรื่องการจัดวงสนทนาพูดคุยครั้งต่อไป ครูบีจะรวบรวมนำประเด็นมา Post ลงอีกทีนะคะ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมครั้งที่แล้ว ทางคุณแม่มน คุณแม่รุ่นพี่ ที่ได้เล่าถึง "กลุ่มใจประสานใจ" ก็ได้พูดถึงการจัดกลุ่มพูดคุยแบบกลุ่มย่อยของผู้ปกครองที่เคยเกิดขึ้นในโรงเรียนรุ่งอรุณในช่วงแรก และจากเรื่องนี้ จึงเกิดกลุ่มของมัธยมปลายขึ้นในวันพุธที่จะถึงนี้เลยค่ะ เวลาประมาณ ๕ โมงเย็นที่ศาลาริมน้ำ ข้างเรือนศูนย์สุขภาพวิถีไทย งานนี้คุณแม่มนจะเตรียมผลไม้มาเสริมเพื่อให้การพูดคุยมีอรรถรสมากขึ้นนะคะ ส่วนชั้นเรียนไหนมีการจัดกลุ่มอย่างข้างต้นบ้าง ก็นำมา post เป็นข่าวสารให้พวกเราได้รับรู้กันบ้างนะคะ เผื่อมีใครสนใจอยากเป็นกลุ่มสมาชิกใดก็จะได้เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกกันบ้าง

เกริ่นนำซะยาวเลยค่ะ เอาไว้เท่านี้ก่อนดีกว่า จริงๆแล้วมีอีกหลายเรื่องที่น่าจะนำมาพูดคุยกันนะคะ เดี๋ยวจะ post เอาไว้ต่อๆ ไปค่ะ ส่วนผู้ปกครองท่านใด หรือครูท่านใดอยาก post บทความอะไรก็เรียนเชิญด้วยความยินดีนะคะ ที่นี่เราจะเปิดพื้นที่กันอย่างจริงจังค่ะ ไม่มีให้คะแนน ไม่ปรับสอบตก ไม่มีผิด ไม่มีถูก ค่ะ

ป.ล. สำหรับผู้ปกครองที่ได้บอกเอาไว้ในครั้งที่ประชุมว่า เป็นกลุ่ม low tech ไม่เป็นไรนะคะ ครูบีจะนั่งอยู่ที่อาคาร ม.๖ หรือจะไปปรึกษาครูอ้อ ที่ชั้น ๒ ของสานอักษรก็ได้นะคะ ตอนเย็นๆ จะสามารถเข้ามาใช้ computer ได้ค่ะ ครูบีจะได้สอนและแนะนำวิธีการใช้ blog ให้ ไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ


ครูบี